วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเด็กแห่งชาติ

ประวัติวันเด็กแห่งชาติ


              วันเด็กแห่งชาติตรงกับวันเสาร์ที่สอง ของเดือนม.ค.ทุกปี เป็นวันหยุดราชการที่มิได้ชดเชยในวันทำงานถัดไป (วันจันทร์) มีการให้คำขวัญวันเด็กทุกปี โดยนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
              งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์แรกของเดือนต.ค. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อ สวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
              รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
              จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
              งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนต.ค. ถึงปี 2506 และในปี 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สอง ของเดือนม.ค. เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้
              คำขวัญวันเด็กเป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า"จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม" 

              ตั้งแต่ปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมาจึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 


ความสำคัญของวันเด็กแห่งชาติ
                เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                
ประเทศไทยนั้นมีประชากรที่เป็นเด็กที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี เป็นจำนวนประมาณร้อยละ 24 หรือ 15.36 ล้านคนจากจำนวนประชากร 64 ล้านคน ทั่วโลกถือว่าเด็กเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ การจัดงานวันเด็กจึงถือเป็นวันสำคัญของแต่ละชาติตามแต่ความเหมาะสม นอกจากจัดงานแล้วนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน ตั้งแต่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีคำขวัญมอบให้เด็กเนื่องในโอกาสงานวันเด็กแห่งชาติทุกปี
                
คำขวัญวันเด็กแต่ละปีนั้นเป็นคติเตือนใจที่ให้ข้อคิดแก่เด็ก คำขวัญแรกในวันที่ 3 ตุลาคม 2499 เป็นของจอมพลแปลกมีข้อความว่า จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม ส่วนคำขวัญในปีนี้เป็นของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 มีข้อความว่า ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
                
นอกจากคำขวัญของนายกรัฐมนตรีแล้ว กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดทำเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี ขึ้นมาเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเตือนใจเด็กและเยาวชนเพื่อให้ระลึกถึงสิ่งที่ตน ควรทำ ประพันธ์เนื้อร้องโดยนางชอุ่ม ปัญจพรรค์ และทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน เพลงนี้จะเปิดในวันเด็กแห่งชาติอยู่เสมอ

                เนื้อเพลงได้แจกแจงหน้าที่ของเด็กดีว่าต้องมีหน้าที่ 10 ประการด้วยกันคือ นับถือศาสนา รักษาธรรมเนียมมั่น เชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์ มีวาจาสุภาพอ่อนหวาน มีความกตัญญู รู้รักการงาน ศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญ มีความขยันมานะอดทนไม่เกียจคร้าน รู้จักออมและประหยัด มีความซื่อสัตย์ มีน้ำใจนักกีฬาและทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษและรู้จักรักษาสมบัติของชาติ 


คำขวัญวันเด็กปี 2555

“สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี”





1 ความคิดเห็น: